คอลัมน์พันธกิจผลิตผล (วางแผนการเงิน)
คอลัมน์พันธ์กิจผลิตผล
วางแผนการเงินรับมือโควิด – 19
คุณ โจ มณฑานี ตันติสุข /กูรูด้านการเงิน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา–2019 หรือโควิด–19 ยังเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วทุกมุมโลก ในส่วนของประเทศไทยการแพร่ระบาดเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 นอกจากส่งผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
บริษัท ห้าง ร้านต่าง ๆ ต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ผู้คนตกงานส่งผลต่อการใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นทันที การเตรียมพร้อมด้านการเงินจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพื่อให้พร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา วันนี้ “คุณโจ มณฑานี ตันติสุข กูรูด้านการเงิน” จะมาบอกถึงวิธีการวางแผนการเงินเพื่อรับมือโควิด–19
เรื่องที่ไม่ควรประมาทคือเรื่องของการเงิน
หลายคนมองว่าโควิด–19 เป็นไวรัสล้างโลก แต่ส่วนตัวมองต่างออกไป เพราะมองว่าโควิด–19 เป็นเหมือนเสียงนาฬิกาปลุก (Wake up call) ให้กับเราเป็นเสียงที่มาเตือนว่า วันนี้เราประมาทกับการใช้ชีวิตกันหรือไม่ มีเงินออมสำรองกันบ้างหรือไม่ ซึ่งตนพูดมาตลอดว่าเราต้องมี “เงินออมสำรองเลี้ยงชีพ”
“เงินออมสำรองเลี้ยงชีพ” คือ การที่เรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ เราต้องมีเงินออมสำรองไว้จำนวนเท่านั้น เช่น ค่าใช้จ่ายต่อเดือน (ณ ที่นี้ หมายถึงค่าใช้จ่ายหลักจริง ๆ ) เดือนละ 1 หมื่นบาท เราจะต้องออมเงินให้ได้เดือนละ 1 หมื่นบาทต่อเดือน อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งการออมเงิน 6 เดือน ถือว่าเป็นไปตามหลักสากล แต่บางคนอาจจะออมไว้ 8 เดือน หรือมากกว่านั้นย่อมได้ โดยส่วนตัวคือออมไว้ 12 เดือน ซึ่งเหลือย่อมดีกว่าขาด และเป็นการออมที่ปลอดภัยที่สุด
ทำไมต้องมีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพ?
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดตอนนี้ เราจะเห็นว่ามีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมากจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 ถ้าเราไม่มีเงินออมสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน ลองคิดกันเล่น ๆ ดูว่าชีวิตจะย่ำแย่ และต้องตกอยู่ในสภาวะความเครียดมากแค่ไหน แต่ถ้าเรามีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เรากันไว้ทุกเดือน ขอเน้นคำว่า “ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริง ต่อเดือน” สมมติว่าเราออมไว้ 12 เดือน เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่คุณบังเอิญตกงาน คุณจะยังมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนไปอีก 12 เดือน แสดงให้เห็นว่าคุณมี Financial security หรือ ความปลอดภัยด้านการเงิน แต่ถ้าคุณยังไม่มีเงินส่วนนี้อย่ามาบอกว่าชีวิตคุณปลอดภัย เพราะแปลว่าคุณกำลังไม่มีความปลอดภัยด้านการเงิน
เงินออมลักษณะนี้ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น เพราะเป็นเงินออมในลักษณะฉุกเฉินเลี้ยงชีพ ที่เมื่อออมแล้วต้องสามารถนำออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ต้องเป็นเงินที่ไม่ไปจมอยู่ในตลาดหุ้นหรือการลงทุน ไม่ไปจมอยู่ในลักษณะของทอง แต่ต้องถอนได้ตลอดเวลา จะเป็นเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำแบบที่สามารถถอนได้
การออมแบบไหนที่ไม่เหมาะกับการรับมือเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน?
เงินประกันสะสมทรัพย์เป็นรูปแบบการออมที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งกับกรณีนี้ เพราะเป็นการเอาเงินไปจมไว้ เป็นลักษณะของเงินออมระยะยาวมาก ๆ ซึ่งเงินประเภทนี้ดีสำหรับคนขาย แต่ไม่ดีสำหรับเรา เพราะเป็นเงินฝากระยะยาวเกิน 10 ปี และเงินประกันที่ได้จะเท่ากับเงินที่เราออม ดังนั้น ถ้าใครได้ยินคำว่าเงินออมดอกเบี้ยสูงให้พึงระวังไว้อย่างหนักว่านั่นคือประกัน
สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ หรือ คนที่ประกอบอาชีพลักษณะฟรีแลนซ์ ควรวางแผนด้านการเงินอย่างยิ่ง ฟรีแลนซ์จะต้องไม่มีข้ออ้างทั้งสิ้น ว่าต้องมีเงินเดือนประจำจึงจะเก็บออมได้ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่ที่นิสัยการใช้เงิน ซึ่งการออมของคนหาเช้ากินค่ำ สมมติถ้าเราเป็นลูกจ้างรายวัน วันละ 300 บาท ให้หักไว้ในการเก็บออม 20% สำหรับใครที่บ่นเสมอ ๆ ว่ารายได้น้อยยังต้องออมอีก ก็ขอให้ฝึกเป็นนิสัย ได้เงินน้อยก็ออมน้อย การฝึกนิสัยเหมือนฝึกจิตใต้สำนึก จะทำให้เราใช้เงินน้อยลงโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ตามมาคือนิสัยรักการเก็บออมเป็นประจำ
แหล่งรายได้ก็สำคัญ
เราจำเป็นต้องมีแหล่งรายได้หลายทาง เวลาที่เราวางแผนการเงิน นอกจากเราจะมีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เราต้องมีแหล่งรายได้หลายทางอย่าพึ่งพารายได้ทางเดียว ส่วนคนที่ไม่มีต้นทุน เราต้องนึกก่อนว่าเราจะทำอะไรโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนที่เป็นเงินได้หรือไม่ เช่น เรามีแรง มีคอนเนคชั่น หรืออื่น ๆ ก็ต้องคิดดูโดยที่เราต้องไม่กู้
“ความจนทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ พอเราเจอชีวิตที่ไม่ง่าย ไม่ได้สบาย จะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงานโดยที่เราไม่ต้องไปลงทุนมาก ดังนั้น อย่ารังเกียจความจน ความลำบาก ทำให้เราเก่ง”
ทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทัศนคติของมนุษย์เงินเดือน คือ จะโวยไว้ก่อนว่าเงินไม่พอ ต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ให้ได้ ว่ามีเท่าไหร่ให้ใช้ต่ำกว่ารายได้เสมอ มีร้อยใช้ร้อยแบบนี้ไม่ได้ ต้องกินอยู่ให้ต่ำกว่ารายได้ พอฝึกแล้วจะกลายเป็นเราทำได้อัตโนมัติ ถ้าที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราเข้าร่วมอยู่ในกองทุน เพราะพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถูกปกป้องโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ เจ้าหนี้จะยึดเงินส่วนนี้ของเราไม่ได้ สมมติเราไปกู้เงินเป็นหนี้ 3 แสนบาท เจ้าหนี้จะมาเอาเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราไปเพื่อชดใช้หนี้ไม่ได้ ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะช่วยปกป้องเราจากเจ้าหนี้ และยังได้ผลตอบแทน 100%
โควิด–19 สอนให้เรามีวินัยและอดทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สอนให้เราอดทน เพื่อที่จะได้เป็นเงินสำหรับการใช้ชีวิตในวันที่เราไม่มีเงิน ไม่ได้ทำงาน และเจ็บป่วย เปรียบเหมือนการเกษียณตอนแก่แบบไม่ลำบาก
สรุปได้ว่าการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งล่าสุดแน่นอนว่าการรับมือกับโควิด–19 สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการออมเงิน และเงินออมสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงแหล่งรายได้หลายทาง จะช่วยให้เราพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย ที่สำคัญอีกอย่างคือเราต้องมีสติในการใช้เงิน เราต้องทำให้เงินเป็นเรื่องสนุก ทั้งการวางแผน ทำให้จิตวิทยาในตัวเราผูกพันกับเงิน รักเงิน วิธีที่เราปฏิบัติกับเงินจะเป็นกระจกสะท้อนวิธีที่เราปฏิบัติกับตัวเอง การที่เราผลาญเงินออกไปเป็นกระจกสะท้อนว่าเราไม่รักตัวเอง เพราะเงินเกี่ยวพันโดยตรงกับคุณค่าที่เรามีกับตัวเอง